วันศุกร์, พฤษภาคม 3, 2024
ติดตั้ง เดลิเวอรี่ แอป ได้แล้ววันนี้
หน้าแรกท่องเที่ยวธนาคารเกียรตินาคินภัทร เผยกำไรไตรมาส 1 ลดลง 27.8% เหลือ 1,506 ล้านบาท สะท้อนตลาดทุนซบเซา

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร เผยกำไรไตรมาส 1 ลดลง 27.8% เหลือ 1,506 ล้านบาท สะท้อนตลาดทุนซบเซา

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร จำกัด (มหาชน) หรือหุ้น KKP แจ้งผลประกอบการต่อตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยไตรมาส 1/67 ธนาคารและบริษัทย่อย มีกำไรสุทธิ 1,506 ล้านบาท ปรับลดลง 27.8% จากไตรมาส 1/66 ที่มีกำไรสุทธิ 2,085 ล้านบาท แต่ปรับเพิ่มขึ้น 124.9% หากเทียบกับไตรมาส 4/66

รายได้จากการดำเนินงานรวม ไตรมาส 1/67 อยู่ที่ 6,832 ล้านบาท ปรับลดลงเล็กน้อย 1.6% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 แบ่งเป็นรายได้ดอกเบี้ยสุทธิ ที่ปรับเพิ่มขึ้น 0.6% และรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ย ที่ปรับลดลง 8.1% สาเหตุหลักมาจากภาวะตลาดทุนที่ซบเซา ส่งผลให้รายได้ค่านายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ และรายได้ค่านายหน้าประกัน ปรับตัวลดลงตามการชะลอตัวของสินเชื่อปล่อยใหม่

ธนาคาร ยังสามารถบริหารจัดการค่าใช้จ่าย ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิ อยู่ที่ 42.4%

ด้านคุณภาพสินทรัพย์ ธนาคารยังคงความรอบคอบ และมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น อย่างระมัดระวัง จากมาตรการต่างๆ ที่ธนาคารดำเนินการมาอย่างต่อเนื่องเพื่อเร่งบริหารจัดการคุณภาพสินทรัพย์ ส่งผลให้ธนาคารเห็นสัญญาณที่ดีขึ้น โดยผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น ทยอยปรับตัวลดลง อย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม ธนาคารเกียรตินาคินภัทร ยังคงมีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้น เป็นจำนวน 609 ล้านบาท ลดลง 44.5% เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2566

นอกจากนี้ ในไตรมาส 1/2567 ภายใต้หลักการบริหารคุณภาพสินเชื่อเชิงรุก ธนาคารได้มีการพิจารณาจัดชั้นเชิงคุณภาพสินเชื่อขนาดใหญ่รายหนึ่ง ซึ่งธนาคารได้มีการตั้งสำรองผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นไว้ครบถ้วนแล้ว ในไตรมาส 4/2566 ส่งผลให้อัตราส่วนสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิตต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 3.8% ปรับเพิ่มขึ้นจาก 3.2% ณ สิ้นปี 2566 จากการที่ธนาคารได้มีการพิจารณาจัดชั้นเชิงคุณภาพสินเชื่อขนาดใหญ่รายดังกล่าว

ในขณะที่คุณภาพสินเชื่อประเภทอื่นๆ โดยรวมแล้วยังบริหารจัดการได้ในระดับที่ดี อัตราส่วนสำรองต่อสินเชื่อที่มีการด้อยค่าด้านเครดิต ณ สิ้นไตรมาส 1/2567 อยู่ที่ 137.3% แสดงให้เห็นถึงความมั่นคงและความสามารถในการบริหารความเสี่ยงของธนาคาร

ธนาคารเกียรตินาคินภัทร

สำหรับไตรมาส 1/67 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิมีจำนวน 5,253 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 0.6% จากไตรมาส 1/2566 แบ่งเป็นรายได้ดอกเบี้ยจำนวน 7,881 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 12.7% การเติบโตนี้มาจากรายได้ดอกเบี้ยจากเงินให้สินเชื่อที่เพิ่มขึ้น 21.0% ตามการขยายตัวของสินเชื่อ และการปรับเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนของเงินให้สินเชื่อเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66

ขณะที่ค่าใช้จ่ายดอกเบี้ยมีจำนวน 2,629 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ 48.3% จากไตรมาส 1/66 สาเหตุหลักมาจากต้นทุนทางการเงินที่ยังคงปรับสูงขึ้นต่อเนื่อง ตามภาวะการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยในตลาด อัตราดอกเบี้ยจ่ายสำหรับไตรมาส 1/67 ปรับเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 2.4% ส่งผลให้ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสำหรับไตรมาส 1/67 ปรับลดลงอยู่ที่ 4.9%

ทั้งนี้ ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน มีจำนวน 4,316 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้น 33.3% จากไตรมาส 1/66 การเพิ่มขึ้นนี้ส่วนใหญ่มาจากผลขาดทุนจากการขายรถยึดมีจำนวน 1,443 ล้านบาท ปรับเพิ่มขึ้นเล็กน้อยที่ 2.4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 4/66 อย่างไรก็ตาม ธนาคารเริ่มเห็นสัญญาณที่ดีขึ้นจากปริมาณรถยึดคงค้างที่มีการทยอยปรับตัวลดลง ขาดทุนจากการขายรถยึด เมื่อเทียบกับไตรมาส 1/66 ปรับเพิ่มขึ้น 28.8% ตามการบริหารจัดการปริมาณรถยึดคงค้าง

ในระหว่างไตรมาส 1/2566 ธนาคารเกียรตินาคินภัทร มีการโอนกลับรายการขาดทุนจากการปรับมูลค่าทรัพย์สินรอการขายเป็นจำนวน 619 ล้านบาท จากการที่ธนาคารได้มีการปรับประมาณการค่าเพื่อการปรับมูลค่าทรัพย์สินรอการขายเพื่อให้เป็นไปตามประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย เรื่องอสังหาริมทรัพย์รอการขาย

ธนาคารสามารถบริหารค่าใช้จ่ายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยไม่รวมค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินรอการขาย ซึ่งสะท้อนให้เห็นจากอัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานต่อรายได้สุทธิสำหรับไตรมาส 1/2567 ที่อยู่ในระดับ 42.4%

ด้านนโยบายการเงิน ในปี 2567 จากการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุดในเดือนเมษายนที่ผ่านมา กนง. ประเมินว่าเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้ม ฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง

ด้านอัตราเงินเฟ้อ คาดว่าจะทยอย กลับเข้าสู่กรอบเป้าหมาย ภายในปลายปี 2567 จากมุมมองของ กนง. ต่อสถานการณ์เศรษฐกิจและเงินเฟ้อข้างต้น คาดว่า กนง. มีแนวโน้มที่จะคงอัตราดอกเบี้ย ไว้ตลอดปี 2567

ตลาดรถยนต์หดตัว 21.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน นำโดยกลุ่มรถยนต์เพื่อการพาณิชย์ที่หดตัว 28.0% และรถยนต์นั่งส่วนบุคคลที่หดตัว 9.3% ตามลำดับ สาเหตุหลักมาจากรายได้และกำลังซื้อที่มีแนวโน้มชะลอตัวลงตามภาวะเศรษฐกิจ อัตราดอกเบี้ย และระดับหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง

ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ (SET index) ปรับลดลง 2.7% เหลือ 1,377.94 จุด จาก 1,415.85 จุด ณ สิ้นปี 2566 สาเหตุหลักมาจากปัจจัยด้านเศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวช้ากว่าที่ตลาดคาด ศักยภาพเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มลดลง รวมทั้งปัจจัยด้านนโยบายเศรษฐกิจที่ยังมีความไม่แน่นอน ส่งผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน

มูลค่าการซื้อขายหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวัน ในตลาดหลักทรัพย์ฯ และตลาด เอ็ม เอ ไอ ปรับลดลง 14.3% เหลือ 45,717 ล้านบาท จาก 53,331 ล้านบาท ในปี 2566

ติดตาม ข่าวท่องเที่ยว ได้ที่นี่

RELATED ARTICLES

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่

- Advertisment -
ติดตั้ง เดลิเวอรี่ แอป ได้แล้ววันนี้

Most Popular

Recent Comments