เช็คอาการ ลูกเราติดโทรศัพท์เกินไปไหม? เสี่ยงสมาธิสั้น ปัญหาลูกติดมือถือกลายเป็นปัญหาใหญ่สำหรับพ่อแม่ในยุคปัจจุบันไปเสียแล้ว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัญหานี้กลายเป็นปัญหาที่ถูกละเลยจากพ่อแม่ด้วยความจำใจ อาจเป็นเพราะพ่อแม่จำเป็นต้องให้ลูกเล่นมือถือเพื่อที่ตัวเองจะสามารถทำงานได้อย่างราบรื่น ทั้งนี้พ่อแม่ก็ต้องเข้าใจด้วยว่าผลจากการที่ลูกติดมือถือมากเกินไป ย่อมส่งผลเสียต่อลูกอย่างมาก วันนี้เราจะชวนให้พ่อแม่มาสังเกตอาการที่บ่งบอกว่าลูกติดมือถือมากเกินไปดังนี้
1.ปัจจุบันพบว่าเด็กไทยมีอัตราการติดเกมชนิดที่จัดว่าเป็นโรคถึงขนาดที่ต้องบำบัดรักษาราว10-15% ด้วยเพราะเนื้อหาและรูปแบบของเกมที่สนุก ช่วยสร้างความสุขได้ดี บวกกับเทคโนโลยีที่ทำให้สื่อต่างๆ กลายเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวและเข้าถึงง่าย ทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองควบคุมดูแลได้ยาก หรือมักปล่อยให้เป็นความสุขของลูกเพราะตัดรำคาญที่จะเกิดปัญหาความขัดแย้งกับลูก ท้ายที่สุดอาจส่งผลกระทบถึงสุขภาพ เพราะเมื่อลูกติดมือถือมากเกินไป โดยเฉพาะหากมัวแต่เล่นแต่เกมมือถือก็อาจทำให้สมองฝ่อ และมีผลกระทบต่างๆ ตามมา ดังนี้
2.สุขภาพร่างกายผิดปกติ เด็กจะเริ่มมีอาการปวดศีรษะ ปวดตา ปวดต้นคอ และปวดท้องโดยไม่ทราบสาเหตุ บางรายถึงขั้นกล้ามเนื้อตาโดนทำลายจนต้องผ่าตัดรักษาก็มี ในเด็กบางคนก็อาจเป็นโรคขาดสารอาหาร หรือโรคอ้วนที่เกิดจากการนั่งนิ่งๆ ใช้แต่มือกดจอโทรศัพท์มือถือเป็นระยะเวลานานๆ รวมถึงเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดลิ่มเลือดอุดตันหลอดเลือดต่างๆ ร่วมด้วย
3.สมองเล็กลง ขาดการพัฒนา ในทางการแพทย์พบว่าเด็กที่เล่นมือถือนานๆ ติดต่อกัน 2 ชั่วโมง ต่อเนื่องกัน 2 ปี มีผลให้ขนาดของสมองบางส่วนเล็กลง ซึ่งสามารถมองเห็นได้จากการสแกน MRI อย่างชัดเจน ทำให้พัฒนาการของเชาว์ปัญญาไม่ดี เช่น มีกระบวนการฝึกคิด การเรียนรู้และการแก้ปัญหาที่เชื่องช้า ไม่พัฒนาเท่าที่ควร แถมเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นในเด็กได้อีกด้วย
4.เข้าสังคมยาก ความสัมพันธ์ครอบครัวแย่ ทักษะการเข้าสังคมเป็นอีกหนึ่งปัญหาที่พบได้มากของเด็กกลุ่มนี้ เพราะได้สูญเสียเวลาไปกับการเล่นมือถือซะส่วนใหญ่ จนทำให้ขาดการพัฒนาทักษะในด้านนี้ และส่งผลกระทบอย่างมากในความสัมพันธ์ระดับครอบครัว
5.อารมณ์รุนแรง พฤติกรรมก้าวร้าว กรณีของเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี มักพบปัญหาในลักษณะของการโวยวายที่รุนแรงกว่าเด็กทั่วไปที่ไม่ติดการเล่นมือถือ และจะชัดเจนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อโตขึ้น โดยเริ่มจากลักษณะการพูดที่ก้าวร้าว การแสดงออกที่รุนแรงและมีสภาวะอารมณ์ที่ผิดปกติไป ซึ่งเสี่ยงต่อการเป็นโรคซึมเศร้าและวิตกกังวลได้ง่ายกว่าเด็กกลุ่มอื่น
5 อาการที่บ่งบอกว่าลูกติดมือถือมากเกินไป
-ละเลยในหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ
-มีอาการหงุดหงิดและโมโหรุนแรง
-ไม่สนใจในกิจกรรมที่ชอบ
-เลิกทำกิจกรรมที่เคยชอบทำ
-ไม่สามารถควบคุมเวลาการเล่นมือถือของตัวเองได้
แก้ไขอย่างไรดี?
หากเด็กเกิดพฤติกรรมติดมือถือ จะส่งผลทั้งในด้านพฤติกรรม ความเครียด ทั้งต่อตัวเด็กและคุณพ่อคุณแม่ด้วย ซึ่งทำให้กระทบต่อความสัมพันธ์ที่ดีภายในครอบครัวไปด้วยคุณพ่อคุณแม่จะจัดการกับปัญหานี้อย่างไรดี? อันดับแรกคือการเป็นแบบอย่างที่ดี (Role Model) ให้กับลูก และปรับพฤติกรรมให้ลูกมีการใช้มือถืออย่างเหมาะสม
1.กำหนดเวลาเล่นมือถือให้ชัดเจน จำกัดเวลาในการใช้งานให้เหมาะสมตามวัย
2.สร้างกิจกรรมทดแทน พ่อแม่เล่นกับลูกเยอะๆ ทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ เพื่อเป็นการกระตุ้นพัฒนาการ
3.สานความสัมพันธ์ ไม่ใช่ตามใจ ให้โอกาสเด็กๆ ได้เล่นอิสระ กับเพื่อนๆ ตามความเหมาะสม
4.เลือกประเภทเกมที่เหมาะสม ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่กับหน้าจอตามลำพัง ควรให้คำแนะนำเนื้อหาที่ดูกับเด็กไปด้วย
5.พ่อแม่เป็นตัวอย่างที่ดีให้กับลูก เลิกนิสัยติดหน้าจอตลอดเวลา
6.ไม่เก็บมือถือไว้ในห้องนอน ไม่ควรซื้อมือถือ แท็บเล็ตให้เด็กๆ ใช้ส่วนตัว
มือถือใช้ได้เมื่อไร?
-แนะนำให้เริ่มใช้มือถือได้เมื่อเด็กอายุ 3 – 4 ปี และควรจำกัดเวลาในการเล่นไม่เกิน 60 นาที/วัน
-เด็กแรกเกิด – 2 ปี ควรหลีกเลี่ยงการใช้มือถือ แท็บเล็ต
รักษาโรคสมาธิสั้น พ่อ-แม่ นั้นสำคัญที่สุด ถึงแม้การใช้เทคโนโลยี จะเข้ามีบทบาทสำคัญก็ตาม แต่ก็ควรจะเลือกใช้งานให้พอดี เช่น ใช้งานเพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอน หรือ เสริมพัฒนาการของลูก ซึ่งคุณพ่อคุณแม่ก็ไม่ควรปล่อยให้ลูกเล่นตามลำพัง เพราะหากปล่อยให้ลูกเสพติดเทคโนโลยีมากเกินความจำเป็น ก็จะส่งผลตามมาดังกล่าวได้