ภาวะซึมเศร้าของคุณแม่หลังคลอด ที่ไม่ควรมองข้าม อาการซึมเศร้าหลังคลอด หรือ Postpartum Depression หลายคนคงจะเคยได้ยิน โดยอาการดังกล่าวเกิดจากระดับฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในช่วงหลังจากคลอดบุตรแล้ว ทำให้คุณแม่เกิดอาการซึมเศร้า รู้สึกเสียใจ หรือหดหู่โดยไม่ทราบสาเหตุ
ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด อาการที่คุณแม่หลายท่านต้องเผชิญ โดยมักจะมีอาการดังนี้
1.กังวลว่าจะไม่สามารถเลี้ยงดูตนเองและลูกได้
2.ร้องไห้โดยไม่มีเหตุผล
3.ไม่มีความรู้สึกผูกพันกับลูก
4.รู้สึกทุกข์ใจอย่างมาก
5.อารมณ์เศร้า ท้อแท้ หดหู่ สิ้นหวัง
6.ภาวะนี้มักเกิดขึ้นเกือบทั้งวัน หรือติดต่อกันอย่างน้อย 2 สัปดาห์
7.มีความรู้สึกเหนื่อยหน่าย หมดความสนใจในงานหรือกิจกรรมที่ทำ
8.อาการอื่นๆ เช่น นอนไม่หลับ เบื่ออาหาร ไม่มีสมาธิ ตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ไม่ได้
ควรพบแพทย์เมื่อไร
ควรพบแพทย์ทันทีเมื่อมีอาการ หรือสงสัยว่ามีอาการของอารมณ์ซึมเศร้าหลังคลอด ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือภาวะโรคจิตหลังคลอด ไม่ควรผัดผ่อนหรือเลื่อนนัดแพทย์หากมีอาการดังต่อไปนี้
1.มีปัญหาในการทำกิจวัตรประจำวันหรือดูแลบุตร
2.คิดเรื่องการทำร้ายตัวเองและบุตร
3.อาการไม่ดีขึ้นหลังผ่านไป 2 สัปดาห์
สาเหตุ
สาเหตุของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดนั้นยังไม่แน่ชัด แต่สิ่งที่อาจกระตุ้นให้เกิดภาวะดังกล่าวนั้น อาจเป็น
-ระดับของฮอร์โมน เช่น เอสโตรเจนและโพรเจสเทอโรน ที่ลดลงอย่างรวดเร็ว อาจมีส่วนทำให้เกิดภาวะซึมเศร้าหลังคลอด ระดับฮอร์โมนไทรอยด์ที่ลดลงจะทำให้รู้สึกเหนื่อยล้า รู้สึกเฉื่อยชา เศร้าซึม
-ความกังวลในการดูแลทารกแรกเกิด เมื่อพักผ่อนหรือนอนหลับไม่เพียงพอ จะทำให้ความสามารถในการทำกิจวัตรต่าง ๆ ที่อาจดูว่าเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ นั้นลดลง ผู้ป่วยอาจรู้สึกไม่มีอำนาจควบคุมหรือไม่เห็นคุณค่าในตนเอง
ปัจจัยเสี่ยง
-การตั้งครรภ์เมื่อไม่พร้อมหรือการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์
-มีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หรือ โรคอารมณ์สองขั้ว
-ผ่านเหตุการณ์ตึงเครียดในชีวิต เช่น ตกงาน ป่วย หรือมีภาวะแทรกซ้อนขณะตั้งครรภ์
-ให้กำเนิดบุตรหลายคน เช่น แฝดสอง แฝดสาม
-มีปัญหาเรื่องการให้นมบุตร
-มีปัญหาการเงินหรือปัญหาด้านชีวิตสมรส
-ที่บ้านไม่มีใครที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้
ภาวะแทรกซ้อน
-ผู้ป่วยอาจไม่มีความรู้สึกผูกพันกับบุตร อาจทำให้เกิดปัญหาครอบครัวในภายหลัง
-คุณแม่มือใหม่อาจมีภาวะซึมเศร้าเรื้อรังหรือเป็นโรคซึมเศร้าได้ในอนาคตหากไม่ได้รับการรักษา
-คุณพ่อมือใหม่มักมีแนวโน้มที่จะมีภาวะซึมเศร้าไม่ว่าคู่ครองจะมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดหรือไม่ หากคู่ครองมีภาวะซึมเศร้าความเสี่ยงจะเป็นอาการซึมเศร้าหลังคลอดก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้น
-ทารกแรกเกิดที่อยู่ในความดูแลของคุณแม่ที่มีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดและไม่ได้รับการรักษามักงอแง นอนหลับยาก ทานยาก ร้องไห้ไม่หยุด และอาจมีปัญหาเรื่องพัฒนาการทางด้านภาษา
การป้องกัน
หากผู้ป่วยเคยมีประวัติเป็นโรคซึมเศร้า กรุณาแจ้งให้แพทย์ทราบทันที
-ระหว่างตั้งครรภ์ แพทย์จะเฝ้าระวังดูอาการของโรคซึมเศร้า แพทย์อาจให้ผู้ป่วยทำแบบสอบถามคัดกรองภาวะซึมเศร้า หรือแนะนำให้เข้าร่วมกลุ่มช่วยเหลือหรือได้รับบำบัด
-หลังคลอด แพทย์อาจแนะนำให้ทำการคัดกรองเพื่อดูว่าผู้ป่วยมีอาการของภาวะซึมเศร้าหลังคลอดหรือไม่ แพทย์อาจให้ผู้ป่วยรับประทานยาต้านความเศร้าหรือรับการบำบัดทางจิตหลังคลอด
การตรวจวินิจฉัย
คุณแม่หลังคลอดบุตรอาจมีภาวะซึมเศร้าหลังคลอดได้ทั้งนั้น อย่ากลัวหรืออายที่จะเล่าอาการให้แพทย์ได้รับรู้ การรับรู้ปัญหาตั้งแต่เนิ่น ๆ จะช่วยให้แพทย์วางแผนการรักษาที่เหมาะสมเพื่อควบคุมรักษาอาการได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยแพทย์อาจให้ผู้ป่วยทำ ดังนี้
1.ทำแบบสอบถามคัดกรอง
2.ทำการตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนในร่างกายซึ่งอาจส่งผลให้เกิดอาการซึมเศร้าหลังคลอด
3.ทำการตรวจวินิจฉัยอื่น ๆ เพื่อตัดสาเหตุที่ไม่เกี่ยวข้อง
การรักษา
แพทย์จะออกแบบการรักษาที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความต้องการผู้ป่วยแต่ละท่านและความรุนแรงของโรค หากภาวะซึมเศร้าหลังคลอดเกิดจากปัญหาทางด้านร่างกาย เช่น ต่อมไทรอยด์ทำงานน้อยเกินไป หรือมีโรคดั้งเดิม แพทย์จะทำการรักษาโรคเหล่านั้นก่อน
วิธีดูแลตนเอง
อาการซึมเศร้าหลังคลอดแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล หากสงสัยว่ามีอาการดังกล่าวควรรีบพบแพทย์เพื่อทำการรักษาอาการในเบื้องต้น ในระหว่างนี้ควรออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่เป็นประจำ เลี่ยงเครื่องดื่มที่มีแอลกอออล์ พักผ่อนให้เพียงพอ สลับเปลี่ยนให้คุณพ่อหรือคนสนิทได้เลี้ยงลูก
การรักษาอาการซึมเศร้าหลังคลอด
อาการดังกล่าวจะต้องได้รับการรักษาจากแพทย์โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินและสอบถามการอาการเพื่อให้แนวทางในการรักษา โดยวิธีที่แพทย์ใช้บ่อยได้แก่ การรับประทานยาต้านอาการเศร้า หรือ การพูดคุยกับจิตแพทย์เพื่อบำบัดทางจิตอีกครั้ง