ปัญหาลูกรักไม่ยอมทานข้าว มีวิธีมาฝากคุณพ่อคุณแม่ทุกบ้าน ปัญหา ลูกกินยาก หรือ “ลูกไม่ยอมกินข้าว เป็นปัญหาที่ผู้ปกครองพบเจอได้บ่อย และทำให้ผู้ปกครองหลายคนมีความกังวล กลัวว่าลูกจะได้รับสารอาหารไม่เพียงพอ เจริญเติบโตได้ไม่เต็มที่ ฯลฯ อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการเลือกกินอาหารในเด็ก (ที่เรียกว่า กินยาก) นั้นเป็นพฤติกรรมที่พบได้ตามธรรมชาติ เนื่องจากช่วงเวลาที่เด็กโตขึ้นมาจากวัยทารก น้ำหนักและส่วนสูงที่เพิ่มขึ้นต่อปีจะค่อยๆ ลดลง โดยจะเพิ่มสูงขึ้นอีกครั้งเมื่อเข้าสู่วัยรุ่น
ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ร่างกายมีการเจริญเติบโตช้าลง ความต้องการพลังงานก็จะลดลงด้วย เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงวัยก่อนหน้า จึงทำให้ความอยากอาหารลดลง ผู้ปกครองจึงอาจไม่สบายใจว่า ทำไมลูกถึงไม่ค่อยกินข้าว หรือ กินอาหารได้น้อยลง
ดังนั้น ความหมายที่ชัดเจนของอาการ “กินยาก” (picky eating) จึงไม่ได้มีตัวเลขกำหนดที่ตายตัว อย่างไรก็ตาม คำจำกัดความคร่าวๆ ก็คือการที่เด็กปฏิเสธการกินอาหารบ่อยครั้ง หรือมักจะกินแต่อาหารเดิมๆ ซ้ำไปซ้ำมา ทำให้ผู้ปกครองอาจเกิดความกังวลใจขึ้น
งานวิจัยในต่างประเทศ พบว่า ผู้ปกครองจะคิดว่าลูกกินยาก เมื่อลูกปฏิเสธการลองอาหารใหม่ๆ หรือผู้ปกครองคิดว่าปริมาณและความหลากหลายของอาหารที่เด็กกินนั้นน้อยเกินไป หรือช่วงเวลาในการกินอาหารไม่ใช่ช่วงเวลาที่มีความสุขสำหรับเด็ก อย่างไรก็ตาม ข้อมูลจากงานวิจัยพบว่า ผู้ปกครองที่คิดว่าลูกกินข้าวยากนั้น ในทางกลับกันก็มีความพยายามที่จะเข้มงวดเรื่องการกินอาหารของลูกมากเช่นกัน
หรือบางครั้งก็อาจใช้วิธีติดสินบน โดยการให้อาหารที่ลูกชอบเป็นรางวัล หรือบางครั้งผู้ปกครองเองก็เลือกกินอาหารเช่นกัน การที่ผู้ปกครองมีความเข้มงวดกับการกินอาหารมากเกินไป และผู้ปกครองเองก็กินยาก จะยิ่งส่งเสริมให้ลูกมีพฤติกรรมกินข้าวยากหรือไม่ค่อยกินข้าวมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม มีหลายกรณีที่ภาวะกินยากมีความรุนแรงจนต้องได้รับการรักษา โดยทั่วไปภาวะกินยากที่รุนแรงจะเกิดมาจากสาเหตุหลักๆ คือ
- อาการเจ็บป่วย : เป็นไข้ มีความผิดปกติของระบบทางเดินอาหาร มีโรคทางพันธุกรรมแต่กำเนิด ฯลฯ
- สิ่งแวดล้อม : การเข้าถึงอาหาร ทัศนคติของบุคคลรอบข้าง สิ่งแวดล้อมในมื้ออาหาร ทั้งที่บ้านและที่โรงเรียน
- พฤติกรรม : โดยเฉพาะของผู้ปกครอง เช่น การบังคับป้อนอาหารแต่เด็ก ความกลัวอาหารที่เกิดตั้งแต่ยังเล็ก ฯลฯ
คุณพ่อคุณแม่คนไหนปวดหัวกับพฤติกรรมลูกน้อยกินยาก ไม่ยอมกินอาหารบ้าง มีเคล็ดลับดีๆ ในการแก้ปัญหามาฝากกันค่ะ
- อย่าให้นมมากเกินไป
คุณแม่ต้องลดปริมาณการให้นมลง เพราะเมื่อเด็กมีอายุมากขึ้น หรือ 1 ปีขึ้นไป อาหารหลักของเขาคือข้าว ไม่ใช่นมอีกต่อไป เด็กที่มีปัญหาในการกินข้าว อาจต้องจำกัดการให้นมให้ไม่เกิน 16 ออนซ์ต่อวัน หรือเท่ากับนม 8 ออนซ์ 2 มื้อ เด็กบางคนที่ตื่นมากินนมในเวลากลางคืน ก็ควรงดนมมื้อกลางคืนด้วย เพราะการให้นมช่วงกลางคืนหรือเช้ามืด มักจะทำให้เด็กไม่รู้สึกหิว และไม่อยากอาหาร
- ทิ้งช่วงห่างระหว่างมื้ออาหาร (นมกับข้าว)
ทิ้งช่วงห่างระหว่างมื้ออาหาร (นมกับข้าว) อย่างน้อย 4 ชั่วโมง แนะนำให้คุณพ่อคุณแม่ทำตารางเวลาอาหารไว้ เพื่อความสะดวกในการประเมินความเหมาะสมของอาหารและระยะห่างของอาหารแต่ละมื้อ
- งดของหวานทุกชนิด
งดขนมถุง ขนมซอง ไอศกรีม น้ำอัดลม น้ำหวาน ทอฟฟี่ ช็อกโกแลต หรือของหวานๆ เพราะหลังกินขนมเหล่านี้ จะทำให้น้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ซึ่งไปกดประสาทในสมองให้ไม่รู้สึกหิว ทำให้เด็กรู้สึกอิ่ม ไม่อยากทานอาหารนั่นเองค่ะ
- บรรยากาศสบายๆ
ในมื้ออาหารคุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคาดหวัง เข้มงวด หรือกดดันทำให้เด็กรู้สึกเครียด ไม่ควรติ หรือวิพากษ์วิจารณ์ปริมาณอาหารที่เด็กกิน เช่น ทำไมถึงกินข้าวน้อย ควรเชียร์หรือกล่าวชม เพื่อให้บรรยากาศในโต๊ะอาหารอบอุ่น ลูกผ่อนคลายและอยากทานอาหารมากขึ้น
- ห้ามดุว่าและลงโทษ
ห้ามแสดงอารมณ์โกรธ ไม่พอใจ พูดให้เด็กรู้สึกผิดหรือมีการลงโทษแรงๆ เพราะจะยิ่งทำให้เด็กรู้สึกเครียด และไม่อยากทานอาหารอีก
- ฝึกให้ลูกกินเอง
เมื่อเด็กอายุ 1 ปี จะเริ่มตักข้าวกินเองได้ คุณพ่อคุณแม่ต้องยอมให้ข้าวหกเลอะเทอะบ้างตามประสาเด็ก ไม่ควรป้อน หรือพยายามบังคับให้เด็กกิน และหาอาหารที่เด็กสามารถใช้มือหยิบจับกินเองได้สะดวก เช่น น่องไก่ ข้าวเหนียวปั้น จะช่วยให้เด็กรู้สึกสนุกกับการกินอาหารมากขึ้น
- ตักอาหารให้พอดี
อย่าตักอาหารใส่จานมากเกิน แต่ควรตักให้พอดี ถ้าไม่พอถึงค่อยๆ เติมให้ทีหลัง เพราะการตักอาหารพูนจานจะยิ่งทำให้ลูกไม่อยากกินอาหาร
- ถ้าลูกเล่นอาหาร ให้เก็บทันที
ถ้าลูกไม่ยอมกิน เริ่มเล่นอาหาร ให้คุณพ่อคุณแม่เก็บอาหาร โดยไม่ให้นมหรือขนมอีกเลยจนกว่าจะถึงเวลาอาหารมื้อถัดไป ต้องตัดใจและใจแข็ง แต่ถ้าหากลูกมีท่าทีหิว ร้องขออาหาร ก็สามารถให้เขาทานอาหารได้ แต่ห้ามให้ทานนมหรือขนมเด็ดขาด ไม่อย่างนั้นเด็กจะจำและติดเป็นนิสัย
- ทานอาหารอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา
การกินอาหารพร้อมครอบครัว จะช่วยกระตุ้นให้ลูกอยากอาหารมากขึ้น แถมยังสร้างบรรยากาศที่อบอุ่นภายในครอบครัวได้อีกด้วย
- ไม่เล่นไปกินไป
คุณพ่อคุณแม่และคนในครอบครัวต้องสร้างระเบียบวินัยการกินให้กับลูก ไม่ควรเล่นไปกินไป และไม่ควรใช้เวลาการทานอาหารแต่ละมื้อเกิน 20-30 นาที
อย่างไรก็ตาม หากเป็นปัญหาเชิงพฤติกรรมที่ไม่ได้มีความรุนแรงมาก การปรับทัศนคติและพฤติกรรมของผู้ปกครองร่วมกับลูกจะช่วยให้พฤติกรรมการกินอาหารดีขึ้นได้ อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องใช้เวลาและความอดทนอย่างมากจึงจะประสบความสำเร็จ แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ปกครองควรทำ เพื่อปลูกฝังให้เกิดพฤติกรรมการกินอาหารที่ดีอย่างยั่งยืน